EN

27 สิงหาคม 2564

‘ใหม่ ดี มีประโยชน์’

ตอบโจทย์การสร้างนวัตกรรมที่ BiiC

ดร. ก่อศักดิ์ กับป้ายโลโก้ของสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจบางจาก ‘BiiC’
ซึ่งตัว “i” สองตัว ตรงกลางสื่อถึงคนในปัจจุบันที่ต้องทำงานแบบ Collaboration ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมที่หลากหลาย

จากพื้นฐานความรู้วิศวกรรมอาหาร ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกณิชย์ ได้เข้าร่วมงานใต้ชายคาองค์กรสีเขียว บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการส่วนงานการบ่มเพาะธุรกิจ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจบางจาก “BiiC” หรือชื่อเต็มว่า ‘Bangchak Initiative and Innovation Center’ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการสร้าง หรือหานวัตกรรมที่เป็นสีเขียวมาสู่บริษัทฯ และสามารถให้พนักงานทุกคนในองค์กรสามารถเอานวัตกรรมเหล่านี้ ไปทำงานของตัวเองได้

การสนทนาเริ่มต้นกับ ดร.ก่อศักดิ์ ขึ้นอย่างกันเอง ภายในห้องทำงานซึ่งเปิดเป็นพื้นที่ Co-Working Space เสมือนหนึ่ง พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ไอเดียและหลากหลายนวัตกรรมจุดประกายขึ้นที่นี่...

“วิสัยทัศน์ของบางจากฯ นำทางให้ผมมาทำงานที่นี่ นั่นคือ Evolving Greenovation ก่อนหน้านี้ ผม ทำงานด้านนวัตกรรมสีเขียวและมีโอกาสเข้ามาในยุค CEO คนปัจจุบัน มีการนำองค์กรในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างหนึ่งคือเป็น Bio-Based Business พร้อมจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมฯ (BiiC)”

บ่มเพาะธุรกิจ สร้างนวัตกรรม เน้นการลงทุน

BiiC ประกอบด้วยส่วนงาน 3 ส่วน ได้แก่ ระบบนิเวศ ระบบบ่มเพาะธุรกิจ ระบบนิเวศนวัตกรรม “งานบ่มเพาะธุรกิจ เน้นการสร้างนวัตกรรมจากภายในองค์กร อย่างโปรเจกต์ ‘ปั้นคนในให้เป็นเถ้าแก่’ หรือ ‘The Intrapreneur’ เปิดกว้างให้พนักงานทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากเป็นเจ้านายตัวเอง เพราะโครงการนวัตกรรมในหลายๆ ส่วน ต้องอาศัยความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และมีมุมมองหาช่องใหม่ ๆ”

Co-Working Space ใน Biic ที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องทำงาน ห้องประชุม ฯลฯ
ซึ่งพนักงานทุกคนสามารถเข้ามาใช้ เพื่อสร้างสรรค์งานนวัตกรรมได้ตลอดเวลา

การที่แต่ละคนมีพื้นฐานและความสนใจที่แตกต่างกัน เขามองว่าทำให้เกิดนวัตกรรมหลากหลาย “เราไม่ได้เน้นการประกวด ดังนั้นในแต่ละปีเราไม่ได้หาโครงการที่ดีที่สุด แต่เป็นการหาว่าใครพร้อมไปสู่การทดลองในเชิงพาณิชย์มากกว่า”

“นวัตกรรมมีหลากหลายรูปแบบที่สามารถนำเครื่องมือ เช่น Design Thinking, Business Model Canvas ซึ่งถอดแบบจากมาตรฐานและการพัฒนาโดยองค์กรระดับโลก มาใช้ในกระบวนการคิดให้มีระบบมากขึ้น ทำให้พนักงานช่วยกันดูกระบวนการทำงานในปัจจุบัน ตรงไหนสามารถปรับปรุงกระบวนการได้ เกิดเป็นการพัฒนาคุณภาพ QCC (Quality Control Circle) การปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน หรือ BPR (Business Process Redesign) ปัจจุบัน เราให้ความสำคัญกับรูปแบบออนไลน์ จึงมีระบบ e-Learning, e-Classroom พนักงานสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งช่วยร่นเวลาในการพัฒนาคนด้วย”

นวัตกรรมมีหลากหลายรูปแบบ
เราไม่ได้หาโครงการที่ดีที่สุด
แต่หาโครงการที่พร้อมไปสู่การทดลองในเชิงพาณิชย์

แต่กว่าจะได้ข้อมูลมา เขาก็ต้องเข้าไปสู่ระบบนิเวศของนวัตกรรม คือการออกไปหา พบปะผู้คนเพื่อสร้างความ สัมพันธ์ และสร้างภาคีเครือข่ายในการขยายความร่วมมือร่วมกับบางจากฯ เพื่อประหยัดเวลา และเพิ่มความรวดเร็ว “หลักการของ BiiC ไม่ได้สนใจพาร์ตเนอร์ว่าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ต่างชาติ หรือรายเล็ก หรือสตาร์ทอัพ แต่ดูว่าสามารถมาสร้างคุณค่าร่วมกันได้ไหม ซึ่งที่ผ่านมาเราสามารถพัฒนา IP (Intellectual Property) หรือ ทรัพย์สินทางปัญญา หนึ่งในวิธีการสร้างมูลค่าให้กับบริษัทฯ ปัจจุบันจดสิทธิบัตรไปแล้ว 12 รายการ ภายในช่วง 3 ปี”

การสร้างคลังไอเดียเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ “ที่นี่เรามี ‘Idea Bank’ ถูกพัฒนาขึ้นโดย ทีม Ecosystem & Innovation ของทางบริษัทฯ เพื่อเก็บรวบรวมไอเดีย “บางโครงการสามารถนำมาปัดฝุ่นต่อยอดได้ แต่ก็เป็นหน้าที่ของสถาบันฯ ที่ต้องออกไปลุยหาอะไรใหม่ ๆ เผื่อไว้ และนำมาปรับให้เข้ากับสภาพความเป็นจริง ขณะเดียวกันต้องสร้างความเข้าใจ สื่อสารทิศทางชัดเจน โดยอาศัยความสมดุล ความเหมาะสม และช่วงจังหวะเวลา

ปีที่แล้ว บริษัทฯ ให้พนักงานทุกคนระดมความคิดด้วยกันทุกวันศุกร์ เรียกว่า TGIF หรือ Think Great It’s Friday คือทุกวันศุกร์บ่ายทุกคนสามารถทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่งานประจำแต่ก่อเกิดประโยชน์กับองค์กร ปรากฎว่ามีการผุดไอเดีย นวัตกรรมในกลุ่มพนักงาน จัดทำ ‘พวงหรีดแอลกอฮอล์เจล’ รวมถึงดัดแปลงไปมอบเป็นกระเช้าของขวัญเยี่ยมผู้ป่วย ถือเป็นผลผลิตด้านสุขภาพที่สร้างสรรค์ไม่น้อย

แม้จะเป็นไอเดียเล็ก ๆ แต่พนักงานเองก็ภูมิใจที่เขาได้มีส่วนในการร่วมกันคิดและช่วยกันทำและออกมาเป็นงานที่ใช้ได้จริง” ปีนี้ทีมงานก็มีการวางแผนจะนำ TGIF กลับมา เพื่อความต่อเนื่องในการสร้างนวัตกรรมในองค์กร

CEO บางจากฯ อ่านไอเดียจากพนักงานที่ติดไว้บน ‘Idea Wall’ ของสำนักงาน

‘สาหร่ายแดง’ สุดยอดนวัตกรรมหนึ่งเดียวในประเทศไทย

“นวัตกรรมที่เป็นความภูมิใจของบางจากฯ แต่อาจจะยังไม่ค่อยรู้จักกันกว้างขวางคือ กระบวนการการผลิตสาหร่ายสีแดง ที่สามารถสร้าง Astaxanthin มีสารต้านอนุมูลอิสระ เทียบเท่ากับวิตามินซี 100 เท่า ถือเป็นองค์ความรู้ที่เราพัฒนาขึ้นมา และสามารถทำในเชิงพาณิชย์ ได้รับการรับรองจาก อย. และอยู่ระหว่างการขยายผล มีโรงงานต้นแบบและกระบวนการผลิตเอง ถือว่าเป็นรายเดียวในประเทศไทยที่มี know-how นี้ จดสิทธิบัตร และมีนักวิจัยพัฒนาขึ้นมา”

ทุกนวัตกรรมของบางจากฯ
ต้องตอบโจทย์ ‘สังคม’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ เสมอ

ส่วนนวัตกรรมอื่นๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็เป็นการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น ‘ปั๊มลอยฟ้า’ เป็นปั๊มแรกและปั๊มเดียวในเมืองไทย อยู่ที่สุขุมวิท 62 ตอบโจทย์สำหรับพื้นที่น้อย และลูกค้าไม่ต้องกังวลว่าหัวจ่ายจะอยู่ฝั่งไหนของรถ เรียกว่าเป็นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ของการขายหรือโครงการ ‘Winnonie’ (วิน-No-หนี้) นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นไอเดียของพนักงาน ช่วยลด ค่าใช้จ่ายให้กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ จึงพัฒนาแพลตฟอร์ม EV รถจักรยานยนต์และแบตเตอรี่ไฟฟ้าให้เช่า รวมถึงต่อยอดการพัฒนา ติดตั้งตู้ swapping แห่งแรก เพิ่งเปิดตัวไปอยู่ที่ปั๊มสาขาเอกมัย ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็น บริษัท วินโนหนี้ จำกัด สตาร์ทอัพแห่งแรกของบริษัทฯ ที่เกิดจากพนักงานภายในองค์กร

“อาจจะมองกันว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องของเทคโนโลยีไกลตัว แต่ความจริงแล้ว การปรับรูปแบบการทำงาน ถ้าออกมา ใหม่ ดี มีประโยชน์ นี่ละครับ ‘นวัตกรรม’ สำหรับผมแล้ว รวมถึงนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แบบยั่งยืน ต้องทดสอบว่าทำได้จริง ไม่ใช่ทำแล้วดัง..แล้วหายไป สิ่งที่สำคัญ คือ ทุกนวัตกรรมของบางจากฯ ต้องตอบโจทย์สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย”

นับได้ว่า เกือบ 4 ทศวรรษแห่งการพัฒนาธุรกิจของบางจากฯ นั้น เป็นไปตามหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งด้วยการ ‘พัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม’ อย่างแท้จริง

บางจากฯ มีงานวิจัย การประดิษฐ์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้ดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสุทธิบัตร (IP filing) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว 17 รายการ ฉบับล่าสุดคือโครงการวิจัยและพัฒนากระบวนการสำหรับการผลิตแผ่นเส้นใยสลายตัวได้ทางธรรมชาติจากโพลีไฮดรอกซีอัลคาโนเอต (PHAs) ทดแทนโพลีโพรพีลีน (PP) ที่เป็นขยะพลาสติกก่อให้เกิดปัญหาไมโครพลาสติกสามารถนำไปผลิตแผ่นกรองในหน้ากากอนามัยที่สามารถกรองอนุภาคขนาด 0.1 ไมครอนได้มากกว่าหรือเท่ากับ 99% (PEF : 0.1 microns > 99%, PM 2.5) ที่สลายตัวได้ทางธรรมชาติ โดยใช้เทคนิคการขึ้นรูปแผ่นกรองด้วยการปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าสถิต เป็นงานวิจัยร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (Nanotec)