EN

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ปี 2564 ยังคงเป็นปีที่ผู้ประกอบธุรกิจทั่วโลกต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมสมดุลทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการและเศรษฐกิจ ESG (Environment, Governance, Social) นอกจากนี้ ปี 2564 ยังเป็นปีแห่งการตระหนักรู้และเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างเป็นรูปธรรม ภายหลังการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายน ก่อให้เกิดนโยบายและมาตรการต่างๆในด้านที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตื่นตัวของทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความยั่งยืน

สำหรับภาพรวมด้านธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจากฯ ในปี 2564 นั้น จากการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายลงและอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม และกลุ่มบริษัทฯ มีการติดตามและประเมินสถานการณ์ต่างๆ เพื่อวางแผนกลยุทธ์และดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้สามารถปรับตัวได้ภายใต้วิกฤต และมีผลประกอบการที่ดีในทุกกลุ่มธุรกิจ อันได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน กลุ่มธุรกิจการตลาด กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ โดยสามารถสร้างผลดำเนินงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 199,417 ล้านบาท คิดเป็น EBITDA 25,818 ล้านบาท รับผลดีจากการกระจายการลงทุนไปสู่ธุรกิจต้นน้ำอย่างธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติที่นอร์เวย์ผ่านบริษัท OKEA ตลอดจนกระบวนการ Business Process Redesign (BPR) เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในให้มีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 ที่ช่วยเพิ่ม EBITDA ให้กับกลุ่มบริษัทฯ ในปี 2564 มากกว่า 1,600 ล้านบาท

ขนานไปกับการทำธุรกิจ กลุ่มบริษัทบางจากฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงาน และมีส่วนร่วมดูแลสังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่องทั้งในภาวะปกติและวิกฤต ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ในปี 2564 ได้มีการจัดทำโครงการต่าง ๆ หลากหลายโครงการเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการช่วยเหลือสังคม ทั้งในด้านสาธารณสุขและในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่รอบโรงกลั่นน้ำมันบางจากและทั่วประเทศ เช่น โครงการบางจากชวนคนไทยสู้โควิด-19 The Series (คันละบาท/saveสาวนาเกลือ/ไข่ปันสุข) โครงการส่งน้ำมันปันน้ำใจ โครงการปันกันอิ่ม โครงการส่งท่อต่อลมหายใจ โครงการล็อกดาวน์ไม่ล็อกน้ำใจ โครงการบางจากห่วงใย สู้ภัยโควิด-19 ฯลฯ ทำให้ในปี 2564 บางจากฯ ได้รับคะแนนความผูกพันจากการสำรวจชุมชนเพื่อนบ้านรอบโรงกลั่นฯ 86 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดตั้งแต่เริ่มการสำรวจในปี 2557

ทั้งนี้ การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทบางจากฯ เป็นไปตามกลยุทธ์ธุรกิจ 3S (Security, Stability, Sustainability) และกลยุทธ์ความยั่งยืน 4G (Green Business, Green Production, Greenovative Experience, Green Society) ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงทั้งผลประกอบการและผลกระทบทางด้านสังคม และตั้งเป้าเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้สมดุล 3 มิติ คือสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการและเศรษฐกิจ (Environmental – Social – Governance: ESG) โดยได้ตั้งเป้าเป็นองค์กรยั่งยืน 100 ปี “Bangchak 100x” และได้แสดงความมุ่งมั่นในการร่วมแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศด้วยการตั้งเป้าหมายสำคัญ คือมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ในปีพ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero GHG emission) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มการลงทุนในธุรกิจสีเขียว เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับปรุงกระบวนการผลิต ศึกษาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดและเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงวางแผนชดเชยการปล่อยคาร์บอนส่วนที่เหลือด้วยการดูดซับคาร์บอนจากธรรมชาติ

โดยในปี 2564 นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องแล้ว กลุ่มบริษัทบางจากฯ ยังได้มีภารกิจที่สำคัญๆ 3 ประการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายcarbon neutral และ net zero ดังนี้

  1. จัดตั้ง Carbon Markets Club ร่วมกับองค์กรชั้นนำอื่น ๆ ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และสร้างให้เกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในฐานะตัวเชื่อมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างราบรื่น โดยจะต้องมีจัดการพลังงานดั้งเดิมให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ในขณะที่เร่งพัฒนาพลังงานสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพในราคาที่เข้าถึงได้
  2. ร่วมก่อตั้งภาคีเครือข่ายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งอนาคต Syn Bio Consortium ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมสีเขียวที่สำคัญ เปรียบเสมือนการทำฟาร์มในห้องแล็บ ช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร สามารถลดพื้นที่ในการทำปศุสัตว์ และมีผลโดยตรงกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
  3. ขยายธุรกิจสู่เครือข่ายขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ ผ่านบริษัท กรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ จำกัด (Bangkok Fuel Pipeline and Logistics Company Limited – BFPL) ซึ่งจะช่วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งทางรถประมาณ 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2564 กลุ่มบริษัทบางจากฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการดูแลสุขภาพของพนักงานและครอบครัว รวมถึงคู่ค้า ด้วยจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมถึงมีการดูแลป้องกันตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด มีการตรวจคัดกรองหาเชื้อให้กับพนักงาน ทั้งที่ปฏิบัติงานในสำนักงาน โรงกลั่นน้ำมันบางจากและพื้นที่ปฏิบัติการอื่นๆ สถานีบริการน้ำมันและร้านกาแฟอินทนิล มีการปรับรูปแบบการทำงานของพนักงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อควบคุมดูแลความหนาแน่นในพื้นที่สำนักงานและให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้พนักงานร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมในกระบวนการทำงาน คิดค้นผลิตภัณฑ์หรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆ มุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ และพัฒนาทักษะเพื่อรองรับการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ในด้านธุรกิจบริการ ด้วยการวางกลยุทธ์อย่างชัดเจนและความมุ่งมั่นในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ทำให้สถานีบริการน้ำมันบางจากยังคงสามารถรักษาคะแนนอันดับ 1 ในการวัดผล Net Promoter Score (NPS) ที่ใช้วัดความผูกพันผ่านการบอกต่อของลูกค้าตามมาตรฐานสากลไว้ได้ ในขณะที่แบรนด์กาแฟอินทนิล ก็ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำแบรนด์กาแฟรักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังมุ่งมั่นสร้างสรรค์ธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนต่อไป

ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรและองค์กร ทำให้บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนในระดับโลกจาก S&P Global ผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI โดยได้รับ S&P Global Sustainability Award 2022 ระดับ Silver Class เป็นอันดับ Top 3 ของโลก และได้รับการประเมิน MSCI ESG Rating ระดับ AA ซึ่งเป็นระดับสูงสุดขององค์กรในธุรกิจพลังงานในประเทศไทยที่ได้รับมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561

และในปี 2564 บางจากฯ ยังได้รับรางวัลต่าง ๆ กว่า 40 รางวัล ด้านการบริหารจัดการองค์กร นวัตกรรม ความยั่งยืน ภาพลักษณ์องค์กร ความรับผิดชอบต่อสังคม ฯลฯ ทั้งในระดับประเทศ อาทิ รางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Thailand Corporate Excellence Awards 2021 สาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการบริหารจัดการขององค์กร (Corporate Improvement Excellence Award) และสาขาความเป็นเลิศด้านสินค้า/การบริการ (Product/Service Excellence) และในระดับสากล อาทิ รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง UN Women 2021 Thailand WEPs Awards สาขาสถานที่ทำงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งการประกาศเกียรติคุณและรางวัลในด้านต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมมือของผู้บริหาร พนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

ในนามของกลุ่มบริษัทบางจากฯ ผมขอขอบคุณท่านผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกท่าน ที่ได้ให้ความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นและสนับสนุนกลุ่มบริษัทฯ เสมอมา เราจะยังคงมุ่งมั่นสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องให้ธุรกิจ โดยมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มุ่งสู่ความเป็นองค์กรยั่งยืน สร้างผลตอบแทนที่ดีต่อผู้ถือหุ้น สร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสีย และสร้างความยั่งยืนให้กับโลก โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม อันเป็นหลักการที่ได้ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด